: 10 ชิ้นงานครีเอทีฟโชว์เคสที่ใครๆ ก็ว่า ต้องไปเห็นและต้องไปเล่น ในงานแฟต เฟสติวัลครั้งที่ 8 ความสำเร็จของสิ่งที่เรียกว่า ‘ครีเอทีฟ โชว์เคส’ ที่จัดขึ้นครั้งแรกในงานแฟต เฟสติวัลครั้งที่ 7 เมื่อปี 2550 มักจะถูกตีพิมพ์ตามหนังสือนิตยสารในหัวข้อ ‘ความแปลกใหม่ของงานครั้งนี้’ หรือ ‘จุดถ่ายรูปสวยงามประจำปี’ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่มันไม่ค่อยถูกตีพิมพ์บ่อยนักคือหัวข้อ ‘อาหารเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์’ อันเป็นเบื้องหลังความคิดของวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ในการจัดงานนี้ขึ้นมาแทรกตัวในงานแฟต และ หวังว่ามันจะทำให้เด็กวัยรุ่นและเด็กวัยชราทุกคนไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า พวกเขากำลังเสพงานศิลปะอันที่พวกเขาขยาดแขยงคิดว่าเป็นของยากมาโดยตลอด แต่ความตั้งใจดีจะออกดอกออกผลได้ ต้องอาศัยความต่อเนื่องเป็นส่วนประกอบ ครีเอทีพ โชว์เคสจึงกลับมาดักซุ่มตามจุดต่างๆของแฟต เฟสติวัลในปี 2551 นี้ และในครั้งนี้มีการอิมพอร์ตความคิดสร้างสรรค์จากเมืองนอกมาให้ได้เสพกันขนานใหญ่ แถมงานแต่ละชิ้นก็รับประกันได้ว่าเป็นมิตรกับชุมชนมาก เพราะทุกคนที่มาเห็นงานครั้งนี้ จะต้องเล่นและกระโดดโลดเต้นไปกับมัน(ในความหมายตรงตัว)ได้มากกว่าครั้งที่แล้ว 2 เท่า เพราะ เมวะ เด็นกิ กลุ่มศิลปินจากญี่ปุ่นที่จะขนสิ่งประดิษฐ์หลุดโลกและเครื่องดนตรีปัญญาอ่อนของพวกเขามาให้ชาวไทยได้ยืนงงกันว่า ‘นี่มันอะไรเนี่ย’ แต่การชื่นชมของติ๊งต๊องเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องดูโชว์การแสดงดนตรีสดของพวกเขาด้วย ซึ่งก็เล่นด้วยอุปกรณ์ติงต๊องเหล่านั้นนั่นล่ะ นี่เรียกได้ว่า เสพงานศิลป์ไปด้วย ได้โดดโยกไปด้วย ส่วนโปรเจคท์ Pika Pika ของกลุ่ม Tochka จากญี่ปุ่น ก็จะได้มาวาดลวดวาดลายอย่างหลุดลุ่ยรุ่มร่ามและเร่าร้อนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ผลงานของพวกเขาคือการทำให้ภาพนิ่งของเส้นสายที่เกิดจากการถ่ายรูปแบบสปีดต่ำ มีชีวิตและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นแอนิเมชั่น แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์สูงสุดของโปรเจคท์นี้ เพราะคำว่า ‘ความสุขของชุมชน’ คือสิ่งที่ทำให้ Pika Pika ถือกำเนิดขึ้น ดังนั้น พวกเขาจึงเปิดบูทไว้ให้ใครที่เดินผ่านไปมา ได้ร่วมสร้างแอนิเมชั่นแบบ Pika Pika ด้วยกัน อีกห้องหนึ่งที่น่าจะตอบสนองตัณหาของคนเดินงานแฟตได้อย่างดีคือ P.O.P Station หรือ ค่ายเพลงอัตโนมัติ โดยมีผู้บริหารที่ชื่อกลุ่มศิลปิน KYTV จากสิงคโปร์จับมือเซ็นสัญญากับกลุ่ม B.O.R.E.D ประเทศไทย ค่ายนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเนรมิตให้ทุกคนที่มีเงินจ่ายให้พวกเขาสามารถกลายเป็นนักร้องเต็มรูปแบบ ชนิดที่ มีซีดี วีซีดี และ เอ็มวีเป็นของตัวเองภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าใครได้เข้าเดินสายพานงานผลิตของโรงงานปั้นนักร้องแห่งนี้คงได้เรียนรู้ นิยามของ ‘ชื่อเสียง’ กันใหม่อีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมงเช่นกัน ส่วนงานอื่นๆ ภายในงานครั้งนี้ล้วนเป็นงานที่ต่อยอดไอเดียหรือพัฒนาต่อจากงานครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Overhead Nightclub 2.0 ที่ยกเมืองจำลองพร้อมด้วยก๊อดซิลล่าและอุลตร้าแมนเข้าไปไว้ในกล่องให้เราได้มุดหัวเข้าไปสอดรู้ สอดดูและสอดฟังอีกครั้ง , Exjample ที่กลายพันธุ์มาเป็น HESHEIT chronicles โดยจะเอาต้นฉบับการ์ตูนของวิศุทธิ์ พรนิมิต ทั้งหมดมาแปะบนบอร์ดขนาดใหญ่ให้เห็นเบื้องหลังความสำเร็จของวิศุทธิ์ มันต้องใช้ความพยายามขนาดใหญ่แค่ไหน , ดอยและไดโนเสาร์ สองแลนด์มาร์คจากงานแฟต เฟสติวัลที่เชียงใหม่และขอนแก่น ถูกเชิญมาเป็นตัวแทนจังหวัดเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่และกรุงเทพฯ-ขอนแก่น , ตลาดมืด ที่มาโผล่กลางฮอลล์อันสว่างจ้าอย่างไม่ต้องลักลอบ เพราะข้างในขายของถูกกฎหมายแถมเรืองแสงได้ด้วย และสุดท้ายกับการเปิดพื้นที่อิสระให้ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง SuperNormal กลุ่มศิลปินที่เป็นคนประกอบและติดตั้งงานชิ้นต่างๆในครั้งที่แล้วเกิดอยากทำงานกับแบบพี่ๆ บ้าง ครั้งนี้เลยจัดให้เขาได้ติดตั้งงานตัวเองเสียเลย เมื่อได้เห็นรายชื่อของงานแต่ละชิ้นคร่าวๆ แล้ว ก็ถือว่างานครีเอทีฟ โชว์เคสในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นงานชุมชนสัมพันธ์อย่างแท้จริง หลายต่อหลายงานเปิดโอกาสให้คนดูมีส่วนร่วมและรวมร่างเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนั้น พร้อมกับปล่อยให้คนดูได้ค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับคอนเซปต์ต่างๆของงานชิ้นนั้นไปด้วยตัวเอง แม้อาจมีบางคนที่มองงานชุดนี้แล้วรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่งานศิลปะ แต่นิยามความหมายของมันจะสำคัญตรงไหน หากสิ่งนั้นมันก่อให้เกิดความสุขระหว่างเสพ และเกิดแรงขับเคลื่อนให้กับคนๆหนึ่งในการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาในอนาคตข้างหน้า MAYWA DENKI : เทคโนโลยีที่ก้าวหลัง บริษัท เมวะ เด็นกิ จำกัด คือ โรงงานผลิตสินค้า... ที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าสินค้าประเภทไหนเหมือนกัน เราก็รอให้คุณช่วยเราจำกัดความสิ่งเหล่านี้หน่อยว่ามันควรจะเรียกว่าอะไร เครื่องปล่อยลูกแอปเปิ้ล เครื่องทำให้เสียงสั่น เครื่องตีกบาลเมื่อเล่นตลกคาเฟ่ เครื่องทำหน้าโกรธ ...อืม มาซามิจิ โทสะ และ โนบุมิจิ โทสะ สองพี่น้องประธานกรรมการบริษัทเมวะ เด็นกิ จำกัด เรียกสินค้าเหล่านี้ว่า ‘เครื่องจักรปัญญาอ่อน’ สินค้าของพวกเขาไม่ได้หวังผลทางการตลาด แต่หวังผลทางการตลก เพราะจุดประสงค์หลักของการผลิตเครื่องต๊องๆเหล่านี้ออกมาก็แค่อยากจะเห็นปฎิกิริยาจากผู้คนยามต้องเผชิญหน้ากับความปัญญาอ่อนเหล่านี้ว่ามันจะเป็นอย่างไร ‘คอนเซปต์งานของเรามันเหมือนกับ ปลาหมึกบด น่ะครับ คือ กินคำแรกน่ะไม่ค่อยอะไร แต่ถ้าเคี้ยวเมื่อไรนี่มันมาก’ รากฐานวัยเด็กของพี่น้องสองคนนี้เริ่มต้นจากการเติบโตในโรงงานหลอดสุญญากาศนามบริษัท เมวะ เด็นกิ จำกัดซึ่งมีพ่อของพวกเขาเป็นเจ้าของ และนี่อาจเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องมาวนเวียนเกี่ยวข้องกับกลไกเครื่องจักรต่างๆ แต่ในปี 1979 บริษัทก็ต้องปิดกิจการลงเนื่องจาทนพิษวิกฤติน้ำมันไม่ไหว จากนั้น โนบุมิจิประธานผู้น้องได้ไปเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัย และที่นั่นเองคือจุดเริ่มของสินค้าชุดแรกที่ชื่อว่า Naki งานทุกชิ้นในชุดนี้วนเวียนเกี่ยวข้องกับปลา เพราะเขามักฝันร้ายถึงปลาในตอนเด็ก โนบุมิจิเลยใช้นโยบาย ‘แพ้กุ้ง ต้องกินกุ้ง’ ทำงานออกมาเป็นปลาๆให้หมดเพื่อทำการศึกษาสภาวะภายในจิตใจของตัวเองไปในตัว สุดท้าย เขานำฝูงปลาของเขาออกมาแสดงในงานนิทรรศการที่เขาเนรมิตบรรยากาศในงานให้คนงงว่านี่มันแกลอรี่ หรือ แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า (วะ) และคงเป็นเพราะนิทรรศการปลาในวันนั้นประสบความสำเร็จ ในปี 1993 โนบุมิจิเลยจับมือกับพี่ชาย มาซามิจิ ปลุกชีพบริษัท เมวะ เด็นกิ จำกัดขึ้นมาอีกครั้งเพื่อเปิดธุรกิจจินตนาการของสองพี่น้องตระกูลโทสะ โดยวางเป้าจะชิงส่วนแบ่งทางความฉลาดของผู้คนให้ได้มาเจอกับความประสาทของพวกเขาเสียบ้าง ความบ้าคลั่งยังคงดำเนินต่อไปอย่างน่าสะพรึง เมื่อวันหนึ่งมาซามิจิซื้อซินธีไซเซอร์ หรือ เครื่องทำดนตรีสังเคราะห์กลับมาบ้าน ทำให้โนบุมิจิเกิดอาการฟื้นธาตุวิชาด้านการดนตรีขึ้นมาอีกครั้ง เพราะสมัยเรียนเขาเคยเล่นเครื่องเคาะในวงโยธวาทิตโรงเรียน แถมไปแจมกับวงดนตรีแจ๊ซอยู่บ่อยๆ ความบ้าบอจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อดนตรีแนวคอมๆตื้ดๆ มาเจอกับนักประดิษฐ์เครื่องใช้ไฟฟ้าปัญญาอ่อน Tsukuba คือซีรีย์สถัดมา พวกเขาถึงขั้นลงมือสร้างเครื่องดนตรีพันธุ์ประหลาดที่มีพวกเขาเองเล่นได้อยู่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นกีตาร์ครั้งละ 6 ตัวพร้อมกัน , เบสแบบใช้ปุ่มกด , กองทัพหุ่นยนต์เล่นดนตรีอัตโนมัติ นี่ยังไม่รวมพวกหุ่นยนต์หางเครื่อง (ใครก็ได้หยุดพวกพี่เขาที) แต่จุดร่วมของเครื่องดนตรีบ้าๆเหล่านี้คือ การใช้มอเตอร์หรือกลไกไฟฟ้าทำให้เกิดเสียงดนตรีแบบรูปธรรม (เสียงดนตรีที่เกิดจากการเคาะจริงๆ ดีดจริงๆ) อีกที และที่ตลกคือ พวกเขากลับละทิ้งพวกอุปกรณ์สร้างดนตรีสังเคราะห์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียของสินค้าชุดนี้โดยสิ้นเชิง ‘เรารู้สึกว่าอุปกรณ์อย่างไอพอดหรือซินธีไซเซอร์มันให้ดนตรีเชิงข้อมูลกับเรา คือ เดี๋ยวนี้คนเราฟังเพลงจากลำโพงกันหมดแล้ว และถ้าสังเกตดีๆ คนฟังและทำดนตรีสมัยนี้เนี่ยจะชอบพูดอวดกันว่า ‘เพลงซาวนด์ประหลาดแบบนี้น่ะชอบ’ , ‘เพลงแบบนี้เราก็ remix ในคอมได้’ , ‘เรามีไฟล์เพลงเพียบเลย’ แต่ส่วนตัวพวกเราสนใจดนตรีที่เกิดจากการกระทบกันของวัตถุจริงๆมากกว่า เพราะฉะนั้นในขณะที่ทุกคนใช้เทคโนโลยีสร้างดนตรีแปลกๆใหม่ๆ พวกเรากลับใช้เทคโนโลยีมาสร้างการกระทบของวัตถุให้เกิดดนตรีแปลกใหม่’ เมื่อสินค้าด้านการดนตรีของบริษัท เมวะ เด็นกิ จำกัด ปัญญาอ่อนกันขนาดนี้แล้ว ทั้งสองจึงเกิดไอเดียจัด ‘สาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์’อันเป็นเจ้าของความหมายเดียวกันกับ ‘คอนเสิร์ต’ ทั้งสองเริ่มออกทำการแสดงง่ายๆในปี 1993 โดยตอนแรกแต่ละคนก็มีเครื่องดนตรีกันคนละชิ้นที่ยังไม่ซับซ้อนอะไรมาก แต่เวลาผ่านไป ความอลังการฟุ้งซ่านก็มากขึ้นเรื่อยๆ จากเครื่องดนตรี 2 ชิ้น ก็กลายเป็น 8 ชิ้น (เพิ่มแบบก้าวกระโดดมาก) แถมเพิ่มนักดนตรีเพิ่มอีกคน จากนั้นมันก็เกิดการแตกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนคอนเสิร์ตครั้งใหญ่เมื่อปี 2002 นั้น วงของพวกเขามีเครื่องดนตรีและสัตว์ประหลาดอีกสองสามตัวรวมทั้งสิ้น 18 ชิ้นเลยทีเดียว หลังจากนั้นในปี 2001 มาซามิจิ ประธานผู้พี่ของบริษัทได้อำลาวงการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่างไร้เหตุผล ( โนบุมิจิกล่าวว่า ‘พี่ชายผมมันเป็นพวกคาดเดาอะไรไม่ได้ครับ’) บริษัทนี้จึงต้องดำเนินการโดยโนบุมิจิคนเดียวต่อไปพร้อมกับเด็กโรงงานอีกจำนวนหนึ่ง งานชุดต่อมาแบบโซโล่คนเดียวของโนบุมิจิคือชื่อชุด Edelweiss ว่าด้วยการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ‘แก่นสารแห่งความเป็นหญิง’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยีน รังไข่ ความเป็นแม่ แฟชั่น และความรัก โดยสื่อผ่านออกมาทางงานที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้และหน้ากากผู้หญิงที่ชื่อซาวาโอะ และเมื่อถามถึงแผนการในอนาคตของบริษัทว่าพี่จะทำอะไรกันอีกเนี่ย โนบุมิจิกล่าวว่า ‘ผมอยากจะสร้างอาณาจักร เมวะ เด็นกิ ขึ้นมาให้ได้ และอีกอย่างคือ ผมอยากจะประดิษฐ์ตัวผมเองขึ้นมาใหม่ดู’ ...อืม ดูเผินๆแล้ว บริษัท เมวะ เด็นกิ จำกัด จะเป็นชาวเนิร์ดๆ บ้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีประหลาด แต่เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขานี่ล่ะคือนักปฎิเสธเทคโนโลยีตัวจริง สินค้าและสิ่งที่พวกเขาประดิษฐ์ขึ้นมาล้วนไม่ได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้ากับมวลมนุษยชาติ แถมแทบจะปฎิเสธความเป็นดิจิตอลทิ้งไปและกลับสู่ความเป็นอะนาล็อกแบบสมัยก่อนเกือบทั้งหมด แต่ยิ่งเครื่องมือแต่ละอย่างของพวกเขานำชีวิตพวกเราสู่ความ‘ก้าวหลัง’มากขึ้นเท่าไร นั่นก็ทำให้เราได้ฉุกคิดและทวบทวนถึงความหมายของ ‘เทคโนโลยี’ มากขึ้นเท่านั้น อุปกรณ์เมวะ Voice vibrator : เครื่องเปลี่ยนเสียงที่เหมาะสำหรับนักร้องเสียงห่วย เพียงแค่เปิดมอเตอร์ที่อยู่บริเวณหน้าอก มอเตอร์ก็จะสั่นจนเสียงร้องของเราสั่นจนสามารถสร้างเสียงลูกคอ 3 ชั้นได้เทียบเท่ามนต์สิทธิ์ คำสร้อย และ จินตรา พูลลาภ Takedamaru : แตรลมทรงแซ็กโซโฟน สามารถสร้างเสียงได้ 6 สเกล และมีไฟแว๊บๆวิ้งๆทุกครั้งที่เป่า On-Geng : กล่องกลอง ซึ่งทำหน้าเป็นดรัมแมชชีน คอยเคาะจังหวะแบบอัตโนมัติ แถมเลือกแบบเสียงได้หลายแบบ ตามแต่ละเวอร์ชั่นของกล่องนั้น Guitar-la slim (for night) : เครื่องดนตรีพันธุ์ผสมระหว่างออแกน และ กีตาร์ ที่ไม่รู้จะผสมให้เล่นยากขึ้นทำไม Punch kun / Renda chan : หุ่นยนต์หางเครื่อง ที่เต้นได้ท่าเดียวคือท่าชกลม ทางบริษัทอ้างว่า เสียงชกลมของหุ่นสองตัวนี้สามารถบรรเทาความเครียดได้ Deka-Savao : หน้ากากซาวาโอะ เปิดได้ ปิดได้ ด้วยคันบังคับ Poodles : ขากรรไกรเหล็กควบคุมระบบเครื่องยนต์ เคี้ยวของมันทำจากมีดแท้ๆ สร้างขึ้นสำหรับชายผู้อ่อนแอทุกคนที่อยากจะกัดขย้ำผู้หญิงให้แหลกเป็นชิ้นๆ Marimca : ระนาดรูปดอกไม้สามารถตีตัวเองได้อัตโนมัติ ขณะที่กำลังบรรเลงเพลง ดอกไม้จะบาน และจะหุบเมื่อเล่นเพลงจบแล้ว Mecha-Folk : กีตาร์โปร่ง 4 ตัวดีดตัวเองได้โดยโปรแกรมที่ใส่ลงไป แต่ละตัวจำลองหน้าที่ของกลอง เบส กีตาร์ และ แมนโดลินที่ไว้ใช้เล่นในดนตรีโฟล์ค Seamoons : คณะคอรัสหุ่นยนต์ นาม แอน , เบ็ตตี้ และ คลาร่า หลักการทำงานคือ กระบอกสูบตรงกลางจะเป่าลมผ่านช่องเสียงที่ทำจากยาง และจะมีโปรแกรมควบคุมกับแรงเบาของลมอีกทีเพื่อให้ได้เสียงที่แตกต่างกัน Hariseng-bomb : เครื่องตีกบาลเวลาเล่นตลกคาเฟ่ เวลาจะใช้ให้กดปุ่มปล่อยพัดกระดาษออกมาแล้วป้าบที่หัวได้เลย ออฟชั่นพิเศษคือ ที่เครื่องจะมีนับจำนวนครั้งในการตีให้ด้วย Ton-Ton kun : กลองไฟฟ้าแบบหนึ่ง มี 4 ปุ่ม 4 เสียงให้เลือกกดตามอัธยาศัย OVERHEAD NIGHT CLUB 2.0 : คลับย่อหัว จากปีที่แล้วที่วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์และจิโร่ เอนโดะส่ง ‘คลับตัดหัว’ มาเด็ดกบาลชาวแฟตแล้วเอาเข้าไปอยู่ในคลับส่วนตัว(ที่เข้าได้เฉพาะส่วนหัว)ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยไฟวิ้งๆ ร่วมด้วยบทเพลงจากนักดนตรีอีกมากมาย แถมมีน้อย วงพรู มากระโดดข้ามหัวเราเล่นอีก ปีนี้ทั้งวิชญ์และจิโร่ กลับมาพร้อมคลับตัดหัวในเวอร์ชั่นพัฒนากว่าเดิม ‘คลับตัดหัวเวอร์ชั่นแรกที่ทำขึ้นมาเนี่ย เราสร้างมันขึ้นด้วยโจทย์ในใจที่ว่า คนไทยเป็นคนขี้อาย เวลาฟังเพลงแล้วไม่กล้าเต้น ก็เลยคิดว่าจะแยกการรับรู้ของหัวออกจากตัว ให้หัวมาอยู่ในที่มืดๆดู เผื่อว่าจะช่วยให้ตัวเต้นได้ แต่หลังจากเอามาออกแสดงในงานแฟตแล้วปรากฎว่า มันช่วยแตกยอดและตกตะกอนทางความคิดไปได้หลายทางมาก อย่างสมมติถ้ามองในแง่สถาปนิก มันก็เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมจำลองแบบหนึ่ง เหมือนสร้างก้อนความฝันตอนเราหลับขึ้นมา แต่ปกติเวลาคนเราฝัน ความฝันนั้นจะมีแต่เราที่เข้าไปได้ แต่ OVERHEAD NIGHT CLUB 2.0 นี้จะเป็นก้อนความฝันที่สามารถแชร์ร่วมกันได้ทีละหลายๆคน หลายๆหัว’ ‘ที่เราเอามาพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นใหม่นี้ เพราะเราสนใจเรื่องของการย่อส่วนขยายส่วนที่คิดได้ตอนเราจัดไฟในคลับเวอร์ชั่นแรก คือ เราแค่ใช้ไฟดวงเล็กๆจัด แต่เวลาใช้หัวมุดเข้าไปลองดู เราจะรู้สึกว่าไฟมันใหญ่ขึ้น ซึ่งกลายเป็นว่าเหมือนหัวเราถูกย่อลง และรู้สึกแบบว่าเราโผล่มากลางละครเวที เหมือนยื่นหน้าออกมาจากท่อแล้วเจอเมืองใหม่’ จากไอเดียแบบอุโมงค์กัลลิเวอร์นี้ ทั้งสองคนจึงทำตัวเป็นผู้ว่าฯ สร้างเมืองจำลองขึ้นภายในคลับเพื่อรอให้คนดูได้มุดหัวเข้าไปท่องเที่ยวเยี่ยมชม ถึงปีนี้อาจไม่มีน้อย วงพรูให้เห็น แต่เราอาจได้เห็นอุลตร้าแมนหรือก๊อดซิลล่ามาสู้กันข้ามหัวแทน ไดโนเสาร์ : The Softiest will survive ไดโนเสาร์พันธุ์นี้มีวิวัฒนาการแปลกๆ ไดโนเสาร์พันธุ์นี้ฟักตัวในห้องประชุมงานแฟต เฟสติวัล ขอนแก่น ที่ทุกคนระดมหัวค้นหาแลนด์มาร์คสำคัญประจำงาน สุดท้ายมีคนคิดขึ้นมาได้ว่าในเมื่อขอนแก่นเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านไดโนเสาร์ แล้วทำไมจะไม่เอาไดโนเสาร์กันล่ะ วิวัฒนากรของไดโนเสาร์ตัวนึ้จึงเริ่มขึ้นเป็นลำดับดังนี้ 1. ไดโนเสาร์เหล็ก : หมายถึง สร้างไดโนเสาร์ด้วยโครงเหล็ก แถมเติมความเพ้อฝันด้วยการจะติดเครนยักษ์เพื่อให้ไดโนเสาร์ขยับคอได้ แต่ไดโนเสาร์พันธุ์ก็ต้องแท้งก่อนกำหนดด้วยเวลาและงบประมาณ 2. ไดโนเสาร์แถ : หมายถึง จะเอาช้างเป็นๆ มาทำเป็นไดโนเสาร์ โดยจะตบแต่งงวงช้างให้กลายเป็นคอไดโนเสาร์ แล้วพอช้างเชิดงวงขึ้นมันก็จะเหมือนไดโนเสาร์คอยาว และคราวนี้จะสามารถขยับเดินไปมาได้จริงด้วย แต่เนื่องจากกลัวช้างจะเสียชีวิตหลังงานจบและเกรงว่าจะถูกมูลนิธิคุ้มครองสัตว์มาประท้วงปิดทำเนียบ ไดโนเสาร์พันธุ์จึงแท้งไปอีกตัว 3. ไดโนเสาร์เบา : หมายถึง สรุปสุดท้ายหลังจากแท้งไป 2 พันธุ์แล้ว ก็กลับมาสู่โลกความเป็นจริงโดยการลงมติที่การทำไดโนเสาร์เป่าลม ที่ทั้งประหยัดเวลา งบประมาณ และ ช่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่า(ช้าง) ได้ด้วย ครั้งนี้ไดโนเสาร์มาปรากฏตัวอีกครั้งในงานแฟต เฟสติวัลครั้งที่ 8 เพื่อเป็นการให้ความรู้ด้านชีววิทยาและธรณีวิทยาแก่ชาวแฟต กรุงเทพฯ และเป็นอุทาธรณ์ในการร่วมอนุรักษ์งานสร้างสรรค์ไม่ให้สูญพันธุ์ไป จึงต้องวนเอากลับมาใช้คุ้มๆ ดอย : ดอยไทยสไตล์ฮอลลีวูด ดอยแห่งนี้ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผุกร่อนของแก่นโลกและการระเหยของน้ำเค็มในมหาสมุทรใดๆ เพราะดอยแห่งนี้ก่อตัวขึ้นจากความทะเยอทะยานอยากของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า ดั๊ก ยูนิต เรื่องมันเริ่มที่มนุษย์กลุ่มนั้นไปยืนอยู่บริเวณลานจัดงานแฟต เฟสติวัล ที่เชียงใหม่ แล้วกำลังคิดกันว่าจะเอาอะไรเป็นแลนด์มาร์คดูดตาสำหรับที่นี่ดี แทนที่พวกเขาจะนึกถึงแผงขายแคปหมูน้ำพริกหมูที่ใหญ่ที่สุดในโลกหรือจัดแสดงหมีแพนด้า พวกเขากลับคิดจะสร้างดอยขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อจะแข่งกับดอยสุเทพ (ถือเป็นการท้าทายธรรมชาติของมนุษย์เหลือเกิน) ดอยของพวกเขาคือการสร้างอัฒจันทร์ขนาดใหญ่และสูงมากพอที่จะทำให้ได้เห็นบรรยากาศโดยรวมของงาน และจังหวะพอดีที่ด้านล่างดอยนั้นเป็นแผนที่ทางอากาศกูเกิ้ลเอิร์ธของตัวเมืองเชียงใหม่ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าเหมือนอยู่บนดอยมองลงไปยังตัวเมืองจริงๆ นอกจากนี้แม้ว่าบนดอยจะไม่มีเจดีย์อะไรให้สักการะบูชา แต่มันก็มี ดีเจ ที่มีไว้คอยแซวสาวแบบที่ไม่ต่างกับแก๊งชายเชียงใหม่ตามตีนเขาเท่าไร และด้วยความที่ไม่ยอมแพ้ดอยสุเทพ พวกเขาก็เลยสร้างกระเช้าขึ้นดอยที่ฟังดูแล้วเหมือนจะอลังการและมีการชักรอก แต่ความจริงมันคือกระเช้าเยี่ยมคนป่วยที่คนเดินขึ้นดอยต้องหิ้วขึ้นไปด้วย เพื่อเป็นการนับจำนวนคนที่อยู่บนดอยว่า เกินขีดจำกัดในการรับน้ำหนักของดอยหรือไม่ ส่วนออฟชั่นสุดท้ายของดอยนี้คือ การติดตั้งยักษ์วัดแจ้ง (เครื่องส่ง SMS ด้วยแรงงานคน) เข้าไปกับดอย ซึ่งเมื่อลองมองจากที่ราบลุ่มขึ้นไปแล้วเนี่ย มันให้อารมณ์คล้ายป้าย HOLLYWOOD ที่เบเวอร์ลี่ฮิลล์สิ้นดี สรุปแล้ว เราก็ไม่รู้ว่านี่ดอยสำหรับเชียงใหม่หรืออเมริกากันแน่ แต่ความมั่วๆงงๆแต่ตลกดีแบบนี้นี่ล่ะคือเสน่ห์ของกลุ่มมนุษย์งานที่ชื่อว่า ดั๊ก ยูนิต HESHEIT Chronicles : ต้นฉบับแห่งความพยายาม บอร์ดกำแพงแนวยาวขนาดใหญ่ในงานแฟต เฟสติวัลครั้งที่ผ่านมา ถูกก่อขึ้นเพื่อรองรับภาพ Vector ขนาดยักษ์จากสำนักผู้สร้างภาพหลากหลายครัวเรือน ซึ่งกะกันไว้ว่าจะเอาความยักษ์-ใหญ่-ยาวเข้าดึงดูดสายประชาชนทั้งเพศหญิงเพศชายที่เดินผ่านไปผ่านมา และผลที่ออกมาคือ ประชาชนขบวนยักษ์-ใหญ่-ยาว ก็ถูกสูบเข้ามาถ่ายรูปคู่กันอย่างกระจายวายวอด วิศุทธิ์ พรนิมิต คือเจ้าของความเยอะแต่เพียงผู้เดียวในครั้งนี้ หลายคนอาจคิดว่าสิ่งที่เขามีเยอะ คือ แฟนคลับ , ความสำเร็จ , ชื่อเสียง ใช่แล้ว สิ่งเหล่านั้นเขามีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดยว แต่สิ่งที่วิศุทธิ์นำมาแสดงในครั้งนี้ไม่ใช่จดหมายบอกรักจากแฟน 1000 ฉบับ หรือ จัดแสดงข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับตัวเอง 500 ข่าว แต่เป็นต้นฉบับการ์ตูนเรื่อง Hesheit ตั้งแต่กระดาษแผ่นแรกที่ He , She และ It เริ่มต้นมีชีวิตขึ้นมา จนถึงต้นฉบับสุดท้ายที่ทั้ง 3 สรรพนามกล่าวคำอำลา ด้วยจำนวนทั้งหมด 678 แผ่น ( นี่ยังไม่นับภาพที่นำมาทำอะนิเมชั่น ) แต่ ‘ความเยอะ’ ที่เรากำลังเห็นอยู่นี้ไม่ใช่ จำนวนต้นฉบับ เพราะหากมองลึกๆ ลงไปบนกระดาษต้นฉบับเหล่านั้นแล้ว สิ่งที่มีเยอะกว่าคือจำนวนน้ำหมึก จำนวนเวลาจำนวนแรงงาน และ จำนวนแห่งความพยายามที่วิศุทธิ์ทุ่มเทไปให้กับงานที่เขารัก ว่าง่ายๆคือ วิศุทธิ์ไม่ได้กระดิกนิ้ววาดตัวการ์ตูนของเขาแค่ภาพเดียวแล้วดัง เราหวังว่า กระดาษต้นฉบับของวิศุทธิ์ พรนิมิตทั้ง 678 แผ่นที่ท่านเห็นอยู่ตรงหน้าขณะนี้ น่าจะมีจำนวนเยอะพอที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ไฟในการทำอะไรสักอย่างของท่านทั้งหลายลุกโชนขึ้นอีกเยอะ และแยะกว่าสิ่งที่วิศุทธิ์ พรนิมิตเคยทำไว้ P.O.P Station (ค่ายเพลงอัตโนมัติ) : สถานีพรุ่งนี้ดัง ใครว่า มีแค่เงิน เป็นนักร้องไม่ได้ ? กลุ่มศิลปิน KYTV ( Kill your television ) จากสิงคโปร์ เขายืนยันว่าทำให้คุณได้ และทำให้ครบวงจรเลยด้วย เพียงแค่คุณจ่ายเงิน 100 บาท พวกเขาจะจับคุณฝึกร้องเพลง บันทึกเสียง แต่งหน้าแต่งตัว ถ่ายเอ็มวี ออกแบบปกซีดี และปั๊มแผ่นออกมาให้คุณได้ไปวางขายตามแผงซีดีที่สยามฯ(ถ้ากล้าพอ) ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้สามารถเสร็จได้ภายใน 24 ชั่วโมง ‘อะไรกันแค่มีเงิน 100 ก็เป็นนักร้องได้แล้วเหรอ’ ( นี่มันถูกกว่าเขียนใบสมัครอะคาเดมี แฟนตาเซียอีกนะเนี่ย ) แต่สิ่งนี้ล่ะคือสิ่งที่กลุ่ม KYTV ตั้งคำถามต่อการได้มาซึ่งชื่อเสียงของดารานักร้องในยุคสมัยนี้ P.O.P Station ไม่ได้หมายความถึงคำว่า Popuplar เท่านั้น เพราะมันยังเป็นตัวย่อของคำว่า Politics of Popular หรือ การเมืองของความดัง ที่ทางกลุ่ม KYTV ต้องการเสียดสีถึงกระบวนการและเส้นทางการเป็นนักร้องสุดป๊อปปูลาร์ พวกเขาเลยสร้างสถานีพรุ่งนี้ดังแห่งนี้ขึ้น โดยภายในสถานีจะแบ่งเป็นแผนกย่อยๆ ต่างๆให้คนธรรมดาๆเดินตามสายพานนั้นไป ในแต่ละแผนกก็จะมีช่างผู้ชำนาญคอยแปรรูป เหลา เกลา แก้ไข ปรับปรุงให้คนธรรมดาคนนั้นกลายเป็นนักร้องเต็มรูปแบบได้โดยที่คนๆนั้นอาจจะยังร้องเพลงไม่เป็นเลยก็ได้ด้วยซ้ำ และในเมื่อสถานีนี้มาเยือนประเทศไทยแล้ว จึงต้องเปลี่ยนนโยบายทางการตลาดให้เข้ากับสภาพทางภูมิศาสตร์แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ ทางทีมกราฟฟิคเลือดไทยอย่าง B.O.R.E.D จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนจัดหาเครื่องแต่งกาย ช่างทำแต่งหน้า ช่างทำผม ออกแบบปก ทำเอ็มวี และจะบังคับให้น้องๆหน้าใสทั้งหลายปฎิบัติตามครีเอทีฟของสถานีอย่างเคร่งครัด ให้เปลี่ยนเสื้อก็ต้องเปลี่ยน ให้ทำผมก็ต้องทำ ทั้งหมดนี้ดำเนินการภายใต้ปรัชญาที่ว่า ‘เชื่อพี่ แล้วจะดังเอง’ ฟังดูแล้ว ไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังผลิตสินค้าเลยใช่ไหม แต่นี่ก็คือสภาพจริงของวงการบันเทิงในโลกปัจจุบันไม่ใช่หรือ ... เอาน่า อย่าคิดมาก ใครๆ เขาก็ทำกัน รีบเดินไปจ่ายเงินที่จุดลงทะเบียนและเราจะได้ดังกันเสียที ! PIKA PIKA - ความสวยในพริบตาแสง จบจากภาพถ่าย โลโม่ แล้ว เราไม่เห็นวี่แววว่าจะมีอะไรถูกอิมพอร์ตเข้ามาเป็นการถ่ายรูปแนวใหม่รับใช้วัยรุ่นไทยใจร้อนได้อีก จนวันนี้การถ่ายภาพ Light Graffiti คือคำศัพท์ใหม่ที่เริ่มไหลเข้าหูและทะลวงเข้าตา รวมถึงกระตุกเส้นประสาทด้านความตื่นตะลึงของใครบางคนบ้างแล้ว หากพิจารณากันอย่างถ้วนถี่ Light Graffiti อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว หากใครเคยซื้อกล้องดิจิตอลตัวใหม่มาหมาดๆ และริอาจไปถ่ายเสาไฟหรือหลอดไฟเล่นตอนกลางคืน ก็จะพบว่าไฟจากหลอดเหล่านั้นมันกลายมาเป็นเส้นวูบไหวตามทิศทางของการเคลื่อนกล้องของเรา แต่อยู่มาวันหนึ่งมีคนหัวดีลองเปิดหน้ากล้องให้นานขึ้น และ เอาไฟฉายมาตั้งใจวาดภาพในอากาศอย่างจริงจัง จนเส้นวูบๆนั้นมาลากต่อกลายเป็นข้อความต่างๆ ไปจนถึงรูปภาพสุดอลังการ และนั่นเองคือต้นกำเนิดของ Light Graffiti แต่ภาพนิ่งของ Light Graffiti อาจจะไม่สามารถตอบสนองความซ่าของโปรเจคท์ Pika Pika จากประเทศญี่ปุ่นนี้ได้ ( Pika ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า แสง) Pika Pika จึงคิดไกลกว่า ด้วยการใส่ชีวิตลงไปในเส้นวูบไหวเหล่านั้นให้ดิ้นได้ เดินได้ กระโดดได้ แปลงร่างได้ ว่าง่ายๆคือ พวกเขาเอาภาพนิ่งแบบ Light Graffiti นั้นมาละเลงต่อกันจนกลายเป็นแอนิเมชั่นแสงที่อาจแยงตาให้ทุกคนอึ้งทึ่งและร้องอู้อ้าได้พักใหญ่ Pika Pika เป็นโปรเจคท์ที่เกิดขึ้นในปี 2005 ด้วยแรงงานของกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่ชื่อ Tochka อันประกอบไปด้วย มอนโน่ คาซึเอะ และ นากาตะ ทาเคชิ ทันทีที่โปรเจคท์นี้ออนไลน์ในโลกไซเบอร์ มันก็แพร่พันธุ์กระจายออกไปอย่างรวดเร็วและทะลุออกประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่มีใครคาดหมาย จากนั้นก็เดินสายโกยรางวัลมากมายจากเทศกาลงานศิลปะในประเทศต่างๆ Pika Pika ยืนยันว่าการสร้างแอนิเมชั่นแบบพวกเขานั้นง่าย สามารถทำได้ภายใน 5 ขั้นตอน เรียนรู้ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ไม่ใช่เทคนิคที่สูงส่งอะไรมากมาย เพราะพวกเขาก็ไม่ได้สร้างโปรเจคท์นี้ขึ้นเพื่อรังสรรค์งานสุดเปรี้ยวมาไว้อวดศักดาชาวโลก แต่จุดเริ่มต้นพื้นฐานและจุดหมายสูงสุดของ Pika Pika นั้นคือความต้องการที่อยากให้เกิดชุมชนที่คนทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพสามารถร่วมสนุกและร่วมสื่อสารระหว่างกันและกันในเมืองที่พวกเขาจัดเวิร์คช็อปและกิจกรรมสอนการทำแอนิเมชั่นนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าการสื่อสารนี้เองที่อาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ ร่วมกันได้ ทุกๆครั้งที่พวกเขาเปิดเวิร์คช็อป ผู้คนมากมายก็จะมารวมตัวกัน พบปะกัน พูดคุยกันไปจนถึงค้นพบอะไรใหม่ๆร่วมกัน และเมื่อเวิร์คช็อปจบลง ปาร์ตี้ฉายผลงานของคนที่มาเวิร์คช็อปก็จะเริ่มขึ้น ในขณะที่เส้นแสงกำลังพลิ้วไหวอย่างมีชีวิต หลายคนในปาร์ตี้ก็คงกำลังยิ้มและหัวเราะอย่างมีชีวา ไม่ว่างานมันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะฉะนั้น ความสวยหลังจากการสร้าง อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ Pika Pika ใส่ใจ แต่ความสุขระหว่างการทำต่างหากคือคือปรัชญาของพวกเขา ชาเลนเจอร์ : Young-อวกาศ แม้ว่าจะไม่ได้จัดวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม แต่งานแฟต เฟสติวัลก็มักถูกใครหลายคนเรียกว่า วันเด็กแห่งชาติ ก็ด้วยความที่มันมีเด็กเต็มไปหมด แต่ทำไมเล่า งานแฟตถึงไม่มีนายกรัฐมนตรีมากล่าวคำขวัญประจำปี (แถมตอนนี้นายกรัฐมนตรีคงยุ่งมาก ไม่น่าจะมีเวลาให้กับเรา) ไม่มีการเปิดห้องทำงานของใครให้เยี่ยมชม แถมการเอารถถัง เครื่องบิน หรือเครื่องยิงแก๊สน้ำตา มาตั้งโชว์ให้ได้ถ่ายรูปคู่เลย ทำไมมันช่างเป็นวันเด็กลูกเมียน้อยแบบนี้ ปีนี้กลุ่มศิลปินเด็ก(รุ่นใหม่)นักขนย้ายและประกอบชิ้นงานศิลปะที่ชื่อ SuperNormal เล็งเห็นความสำคัญของเยาวชน ไม่อยากให้เยาวชนคนเดินงานแฟตจะต้องน้อยเนื้อต่ำใจ สิ่งที่ SuperNormal ทำ ไม่ใช่การไปลักพาตัวนายกฯให้มาอ่านคำขวัญให้ฟัง หรือ ไปขโมยเครื่องบินออกมาจากกองทัพอากาศ แต่พวกเขาเอายานอวกาศมาตั้งกลางงานแฟต เฟสติวัลเลย ยานชาเลนเจอร์ เป็นยานอวกาศที่ไม่ได้มีนัยยะถึงทรัพย์สินใดๆขององค์การนาซ่า แต่เป็นการตั้งตามชาเลนเจอร์ ฮอลล์ สถานทีจัดงานแฟต เฟสติวัลในครั้งนี้ ด้วยแรงบันดาลใจของสมาชิกในกลุ่ม SuperNormal ที่เคยเห็นเครื่องบิน F-16 ลำยักษ์มาจอดกลางชาเลนเจอร์ ฮอลล์แห่งนี้ในงานวันเด็กแห่งชาติ เลยเอามาคิดต่อให้ไกลกว่านั้นด้วยการสร้างยานอวกาศแทน และที่สำคัญคือ ยานอวกาศลำนี้สร้างด้วยเทคนิคแบบ Pixel Art (นึกง่ายๆ คือ ภาพกราฟฟิคหยาบๆ จนเห็นเม็ดสีที่มาประกอบรวมกัน) โดยการนำกล่องกระดาษลูกบาศก์หลากสี ทั้งขนาดใหญ่โคตรพ่อจนถึงขนาดเล็กโคตรลูก มารวมร่างเข้าด้วยกันจนกลายมาเป็นยานทันสมัยด้วยรูปลักษณ์แบบดิจิตอลเหมาะกับงานวันเด็กยุคไวร์เลส แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ถูกก่อสร้างอลังการด้วยวิถีของอะนาล็อกตามวิสัยของนักประกอบชิ้นงานศิลปะ ‘ พวกเราไม่ต้องการอะไรมากครับ แค่อยากเด็กอย่างพวกเราที่มาเดินในงาน อิมแพ็คกับงานที่เราทำ ถ่ายรูปกับมันเยอะๆ และเกิดความคิดฟุ้งกระจาย เหมือนเวลาเด็กๆได้เห็นรถถัง หรือ เครื่องบินในงานวันเด็กนั่นล่ะ’ และแล้วด้วยยานอวกาศชาเลนเจอร์นี้ แฟต เฟสติวัล ก็สามารถกลายเป็นงานวันเด็กได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยที่ไม่ต้องรอคำขวัญจากท่านนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ตลาดมืด : เถื่อนเรืองแสง ไอเดีย ‘แฟต เฟสติวัล ดาร์คไซด์’ อันหมายถึงการจัดงานแฟต เฟสติวัลแบบปิดไฟมืดหมดทั้งฮอลล์ ไม่ได้เกิดจากการถูกตัดงบเลยไม่มีทุนจ่ายค่าไฟในงาน และก็ไม่ได้เกิดจากคุณธรรมในการอยากจะร่วมใจลดโลกร้อนอะไรทั้งนั้น แต่เกิดจากความพิเรนท์ที่แสนทะเยอทะยานอย่างยิ่งใหญ่ในการอยากจะสร้างสิ่งใหม่ให้กับสังคมไทย ไอเดียสุดบรรเจิดที่สุดจะไร้ตรรกะนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยการสั่งให้เก็บเข้ากรุไปตลอดกาล เพราะไม่มีใครกล้ามัน กล้ามึน และกล้ามืดกับไอเดียนี้ แต่สุดท้ายความดันทุรังย่อมอยู่เหนือทุกเหตุผล ในเมื่อทำไม่ได้ทั้งงาน ก็ขอพื้นที่สักกล่องหนึ่งก็ยังดี ขอไปมืดเงียบๆเถื่อนๆคนเดียวก็ได้ ตลาดมืด จึงถือกำเนิดขึ้นแบบเถื่อนๆกลางงานแฟต เฟสติวัลที่สว่างไสวไปทั่วด้วยหลอดผอมประหยัดไฟ แต่ตลาดมืดแห่งนี้ก็ไม่ได้มืดแบบทื่อๆซื่อตรง เพราะภายในตลาดถูกตกแต่งด้วยเส้นสายที่เรืองแสงด้วยไฟแบ็คไลท์ ฝีมือของ บุญสง่า แซ่เตียว สถาปนิกมืออาชีพ ทำให้ตลาดมืดแห่งนี้ดูไฮโซโก้หรูแซงหน้าตลาดมืดรุ่นพี่อย่างคลองถม ส่วนสินค้านานาจิปาถะที่ขายในตลาดแห่งนี้ ก็ล้วนถูกกฎหมาย ไม่หนีภาษี และทุกชิ้นถูกบังคับให้ต้องสะท้อนแสงได้ จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาขาย ดังนั้นตลาดแห่งนี้ก็จะสว่างด้วยสินค้าเรืองแสงมากมายที่กระจายเต็มพื้นที่ ด้วยบรรยากาศที่แสนมืด มองเห็นแต่เพียงสินค้าที่โดดเด้งเรืองแสง เจ้าของตลาดจึงคาดว่าคนเดินตลาดมืดแห่งนี้ทุกคนจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆกลับไปยิ่งกว่าตอนเดินตลาดสว่างๆ เพราะทุกคนต้องตัดสินใจซื้อสินค้าจากคุณภาพล้วนๆ ...ไม่ใช่หน้าตาของคนขายแต่อย่างใด
Pachi-Moku : อุปกรณ์ดนตรีติดปีกสะพายหลังน้ำหนัก 10 กิโลกรัม วิธีการเล่นคือกดปุ่มที่แผงควบคุมแล้ว เครื่องเคาะป๊อกๆที่ปลายปีกจะทำงาน เครื่องดนตรีสร้างเสียงได้เพียงแค่สองเสียงคือ เสียงโทนสูง กับ เสียงโทนต่ำ จบ
Koi-beat : เครื่องสร้างจังหวะรูปทรงปลาคาร์ฟ โดยคีย์คำสั่งโทนเสียงและจังหวะเข้าไปด้วยปุ่มต่างๆที่มีให้เลือกก่อนแล้วเล่นทั้งหมดด้วยการหมุนจานด้านข้าง 1 รอบ
Taratter : รองเท้าเต้นแท็ปสำหรับคนเต้นแท็ปไม่เป็น เวลาจะเต้นก็ไม่จำเป็นต้องขยับขา เพราะใช้กดปุ่มเอาจากมือ ทางเมวะ เด็นกิ ยืนยันว่าจะรองเท้านี้ได้รับการออกแบบการสั่นสะเทือนเท้ามาเป็นอย่างดี นักดนตรีจะได้ไม่ต้องไปเข้าร้านนวดฝ่าเท้า หลังขึ้นคอนเสิร์ต
ELT ( Electric Lighting Tools) : ป้ายไฟบรรจุหางเครื่องอีกตัวเอาไว้
เมื่อใช้ความใหญ่เข้าหลอกล่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงคราวเรียกใช้ ความเยอะ มาทำงานบ้าง
Comments